นาซ่า ปากกาอวกาศ vs. ดินสอ รัสเซีย | การแก้ปัญหา และ การมองให้รอบด้าน

จั่วหัวมาแบบนี้ หลายคนคงคิดว่าผมจะมาเล่าเรื่อง ปากกา ดินสอ นาซ่า และ การแก้ปัญหาแบบ Simply The Best ให้ฟังแน่ๆ

ถูกครึ่งเดียวครับ

เรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่เราได้รู้กันครับ และ ในเรื่องนี้มีสิ่งที่น่าจะมีประโยชน์กับทุกท่านในเชิงวิธีการคิด และการมองให้รอบด้าน เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงาน และ การทำธุรกิจ หรือ แม้กระทั่งชีวิตจริงมากมายเลยครับ

เรื่องมันมีอยู่ว่า..

ในช่วงระหว่างการแข่งขันกันทางอวกาศในยุคปี 1960s นาซ่า ได้พบปัญหาว่า ปากกาทำงานใต้สภาพไร้แรงโน้มถ่วงไม่ได้ เพราะน้ำหมึกไม่ได้ถูกดันจากแรงโน้มถ่วงของโลก

ดังนั้น นาซ่าจึงทุ่มเงิน หลายสิบล้านเหรียญ ใช้เวลาหลายปี เพื่อที่จะให้สามารถมีปากกาที่ทำงานได้บนอวกาศ

ส่วนรัสเซียแก้ไขง่ายๆ โดยการใช้ดินสอ

ถ้าเล่าเรื่องแค่นี้ หลายคนคงทึ่งในวิธีการแก้ปัญหา แบบง่ายๆ อย่างชาญฉลาดของรัสเซีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่แบบนั้นครับ เพราะที่เล่าไปมันคือนิทานระดับโลกที่มีไว้เพื่อสอนการแก้ปัญหา แบบง่ายๆ แบบเส้นผมบังภูเขา

แต่ถ้าได้อ่านเรื่องจริงแล้ว คุณอาจจะคิดกับเรื่องนี้ “เปลี่ยนไป” ครับ

ในเรื่องจริง ปากกา Space Pen ที่ว่า มีตัวตนอยู่จริงครับ ถูกผลิตโดย Fisher Space Pen Company ซึ่งได้มีการออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้ถูกนาซ่าจ้างมานะจ๊ะ และเขาใช้เงินเพียง 1 ล้านเหรียญในการพัฒนา โดยเขาคิดจะผลิตและขายสำหรับการใช้งานในสภาวะที่ไม่สามารถใช้ปากกาทั่วๆไปได้ (เช่น ร้อนจัด หรือ หนาวจัด)

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ดินสอ นั้นถูกใช้กันตั้งแต่แรกแล้วครับ ทั้งนาซ่า และ รัสเซีย นาซ่าเองเคยสั่งซื้อดินสอ ในราคาแพงมากๆ เพื่อให้นักอวกาศได้ใช้ (โดนด่าอีกต่างหาก) รวมถึงการออกแบบให้สามารถจับได้ง่ายในกรณีที่ใส่ชุดอวกาศ

ถ้านาซ่าใช้ดินสออยู่แล้ว จะซื้อปากกาทำไมล่ะ?

เพราะมันมีปัญหาที่สำคัญกว่านั้นอยู่ไงครับ

ลองคิดง่ายๆ บนอวกาศ ในยานอวกาศที่อยู่ในในสภาวะ อากาศปิด ไร้แรงโน้มถ่วง

การมีไส้ดินสอที่หักได้ แล้วเศษไม้อาจจะเข้าไปในตัวเครื่อง หรือ อุปกรณ์สำคัญ

การมีไส้ของดินสอที่ติดไฟง่าย และ มีความสามารถในการนำไฟฟ้า ลอยไปมาในสภาวะ แบบที่ ที่มีออกซิเจนอยู่

สำหรับสภาวะบนอวกาศนั้น ถ้ามีความผิดพลาดแม้ 0.1% อาจจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ทั้งนักบิน และ ยานอวกาศ

ยังไม่ต้องพูดถึงการเหลาเลยนะครับ (ถ้าจะบอกว่าไม่อยากเหลาก็พกขึ้นไปเยอะๆสิ ก็ต้องลองคิดถึงจุดที่น้ำหนัก 1 กรัมสำหรับการส่งอะไรขึ้นไปบนอวกาศ อาจจะมีราคาเกินแสนบาทครับ)

เมื่อฟังเรื่องจริงแล้ว ก็เข้าใจเหตุผลแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมต้องมี Space Pen

สิ่งที่เราจะในเรื่องนี้นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆครับคือ การแก้ปัญหา กับ การมองปัญหาให้รอบด้าน

สำหรับการใช้ดินสอ เพื่อแก้ปัญหาปากกาเขียนไม่ติด ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ง่าย และ รวดเร็ว เหมาะสำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้น ที่ต้องการการแก้ที่เร่งด่วน

แต่ข้อควรระวังคือ ถ้าไม่มองปัญหา และ ข้อจำกัด และ สภาวะแวดล้อมให้รอบด้านแล้ว

การแก้ปัญหาแบบง่ายๆ อาจจะนำพาไปสู่อีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่กว่า

ในส่วนของการแก้ปัญหาแบบการวิจัยเพื่อทำปากกานั้น เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว และ ต้องการพลังในการร่วมแรงร่วมใจ และ ความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา รวมถึงการต้องใช้ทรัพยากรต่างๆมากมาย แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ

การตั้งใจที่จะแก้ปัญหาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน จะนำพาไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ

ดังนั้น การปรับการแก้ปัญหา จะต้องแบ่งปัญหาออกเป็นระยะสั้น และ ระยะยาว เพื่อนำไปสู่ทางออกที่ดีและยั่งยืนที่สุดครับ

Simply the best, but have to look in every aspect 

ความเรียบง่ายคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องดูให้รอบด้าน

หวังว่าคงจะชอบกันนะครับ ^^

ขอบคุณข้อมูลจากหลายที่ครับ

http://www.snopes.com/business/genius/spacepen.asp

http://en.wikipedia.org/wiki/Space_Pen

http://en.wikipedia.org/wiki/Writing_in_space

http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=fact-or-fiction-nasa-spen

By Surasak

สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล / Surasak Lhueng-u-sakul (Jexep) นักกลยุทธการตลาด การตลาดดิจิตอล และ การตลาดออนไลน์ (Strategic Planner, Digital Marketing, Online Marketing) นักพูด / กรรมการ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ ของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย / นักกลยุทธการตลาดผู้ชนะเลิศรายการ เกมกลยุทธ์ ปีที่ 2 (รายการ Reality การตลาด บน Modern 9 TV)