ปรัชญาตอนมีเวลานั่งมอง (2): เทคนิคทางจิตวิทยา แถวสถานีรถไฟฟ้า

กลางวันวันหนึ่ง ที่มีแดดอุ่นๆ ท่ามกลางลมหนาวเดือนธันวาที่หลายคนรู้สึกเหมือน เทวดาใจดี ลืมปิดเครื่องปรับอากาศ กลุ่มคนหลากหลาย กำลังมุ่งมั่นเดินไปยังเป้าหมายที่ตัวเองตั้งใจไว้ หลังจากเดินทะลุผ่านประตูอัตโนมัติพร้อมแตะบัตรเพื่อจ่ายเงิน

ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ระหว่างที่เดินก้มหน้าก้มตา เพื่อพุ่งไปยังจุดหมายที่นัดกับลูกค้าไว้ ระหว่างทางเชื่อมที่ถูกสร้างด้วยปูนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเดินข้ามหนึ่งในสี่แยกใหญ่กลางป่าคอนกรีตที่มีตึกสูงมากมาย เพื่อไปยังสถานที่ทำงานของตน มีคนกลุ่มหนึ่ง บ้างก็ใส่เสื้อเขียว บางวันก็ใส่เสื้อส้ม กระโดดจู่โจมเข้ามาหยุดฝีเท้าอันเร่งรีบของผมลง พร้อมกับคำกล่าวที่ชวนให้ช่วยเหลือว่า

“ขอคุยอะไรด้วยหน่อย ไม่ได้ขายของ”


เนื่องจากตัวผมเอง กำลังอยู่ในสภาวะเร่งรีบเพื่อไปให้ทันกับนัดที่กำหนดไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว จึงได้แต่ปฏิเสธ พร้อมโบกมือเบาๆ คนกลุ่มนั้นก็หยุด และ หันร่างกายของเขาไปสู่คนอีกคนที่กำลังเดินเข้ามาเช่นกัน

หลังเสร็จจากประชุม หลังจากได้มีเวลาพักเฉยๆ กลางร้านกาแฟ ละแวกใกล้เคียงกับที่นัดหมาย ผมก็มองกลับขึ้นไปยังสะพานปูนขนาดมหึมาที่มีคนมากมายเดินกันอย่างเร่งรีบผ่านไปมาทั้งวัน ก็พลันนึกถึงคนกลุ่มดังกล่าวที่ยื่นมือและสายตาเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือจากผมให้หยุดคุยกับพวกเขา

แล้วก็พลันนึกไปถึง เทคนิคทางจิตวิทยาที่เคยร่ำเรียนมาที่เรียกว่า Foot in The Door เลยอยากจะเล่าให้ฟัง

Foot in The door คือเทคนิคทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนคนหนึ่ง ตอบรับคำขอร้องใครอีกคนหนึ่ง มีแนวโน้มว่า คนที่ตอบรับคำขอร้องจะ ตอบรับคำขอร้องที่ใหญ่ขึ้นอื่นๆ ต่อไปได้ง่ายขึ้น

เหมือนกับเมื่อคุณเอาเท้าผ่านเข้าประตูบ้านมาได้แล้ว (เท้าจะขวางประตูไว้) คนคนนั้นก็มีโอกาสที่จะให้คุณเดินเข้ามุมอื่นในบ้านได้ง่ายขึ้น อย่างไรอย่างนั้น

ถ้าเปรียบกับ กลุ่มคนที่เสื้อหลากสีที่โดดเข้ามาขอความช่วยเหลือ เพียงแค่คุยกับคุณ นั่นก็เป็นเพราะ เมื่อคุณตอบตกลงที่จะคุยกับเขาแล้ว ก็เหมือนกับคุณได้ถูกนำเท้าเข้ามาในประตูบ้านคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเมื่อเขาใช้เทคนิคอื่นๆ ทางจิตวิทยาเพื่อคุณก็อาจจะต้องเสียเงินเพื่อช่วยเหลืออย่างที่เขาบอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เทคนิค Foot in the Door นี้ถือเป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่สำคัญในทางธุรกิจหลายๆ แบบ เช่น ถ้าคุณรับนัดใครคนหนึ่ง คุณก็มีแนวโน้มที่จะฟังในสิ่งที่เขาพูดหรือร้องขอมากขึ้น เทคนิคที่ให้คนบางคนทำแบบสอบถามโดยไม่มีเงื่อนไข แล้วค่อยนำเสนออะไรบางอย่าง หรือ เทคนิคที่ให้อะไรบางอย่างเป็นของฟรี เพื่อขายอย่างอื่นที่แพงขึ้นในภายหลัง

ถามว่าเทคนิคทางจิตวิทยานี้ การนำมาใช้ถือว่าผิดมารยาทอย่างไรไหม สำหรับผมแล้ว ถ้าใช้เพื่อสร้างประโยชน์ และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าในกรณีที่ใช้เพื่อไปบังคับคนที่เขาอาจจะไม่ได้อยากทำอะไรให้คุณ อันนี้อย่าไปทำเลยครับ

ในทางจิตวิทยา ยังมีเรื่องราว และ เทคนิคมากมายหลายหลากที่คุณสามารถปรับไปใช้กับชีวิตประจำวัน และ รู้เท่าทันคนอื่นได้ด้วยครับ

ขอให้โชคดีและสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าครับ

ภาพจาก http://www.thinksales.co.za/getting-a-foot-in-the-door

By Surasak

สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล / Surasak Lhueng-u-sakul (Jexep) นักกลยุทธการตลาด การตลาดดิจิตอล และ การตลาดออนไลน์ (Strategic Planner, Digital Marketing, Online Marketing) นักพูด / กรรมการ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ ของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย / นักกลยุทธการตลาดผู้ชนะเลิศรายการ เกมกลยุทธ์ ปีที่ 2 (รายการ Reality การตลาด บน Modern 9 TV)